Thursday, 14 August 2014

ข้อคิด 10 ประการเพื่อการเรียนปริญญาเอกให้ประสบความสำเร็จ

ข้อคิด 10 ประการเพื่อเรียนปริญญาเอกให้ประสบความสำเร็จ


ดร.วัชรพล พุทธรักษา
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

หลังจากผ่านประสบการณ์ในการเรียน (ทำวิจัย) ในระดับปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาสี่ปีระหว่างปี 2553-2557 เมื่อผู้เขียนสำเร็จการศึกษาแล้วมองย้อนกลับไปก็เห็นว่าการเรียนปริญญาเอกในระบบอังกฤษแบบดั้งเดิม (Traditional British PhD) และรวมถึงการทำปริญญาเอกแบบ by research ในประเทศไทยนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินกว่าจะประสบความสำเร็จและเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ด้วยตัวเราเองหากมีการเตรียมความพร้อมทางวิชาการที่เพียงพอ ทั้งนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนสามารถสรุปข้อคิดสำคัญที่อาจเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจศึกษาต่อปริญญาเอก (และนำไปใช้กับการศึกษาปริญญาโทได้ด้วย) ได้ทั้งหมด 10 ประการดังต่อไปนี้

1. ต้องมี Passion ในเรื่องที่จะทำวิจัย
การเรียนปริญญาเอกในระบบ by research แบบอังกฤษนั้นเป็นการเรียนโดยไม่มี coursework หรือรายวิชาเรียน แต่ในความเป็นจริงแล้วหลายๆมหาวิทยาลัยก็จัดให้มีรายวิชาเรียนอยู่ด้วยในปีแรกอาทิเช่น วิชา Research Methodology และ/หรือรายวิชาบังคับอื่นๆอีกนิดหน่อย และโดยมากแล้ว supervisor (ซุปเปอร์ไวเซอร์ หรืออาจารย์ที่ปรึกษา) จะสั่งให้นักเรียนป.เอกไป sit-in หรือไปนั่งเรียนโดยไม่นับเกรดร่วมกับรายวิชาของทั้งป.ตรีและป.โทตามแต่ซุปฯจะเห็นสมควรว่าวิชานั้นๆอาจจะช่วยให้นักเรียนป.เอกคนนั้นๆได้มีไอเดียหรือแนะนำข้อถกเถียงที่อาจจะสำคัญต่อการทำวิจัยของนักเรียน

ทั้งการเรียนวิชาบังคับในปีแรกรวมถึงรายวิชาที่เราไปนั่งเรียนโดยไม่นับแต้มนั้นสำคัญก็จริงแต่ก็ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าเราจะเรียนจบปริญญาเอกหรือไม่เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับระบบอังกฤษดั้งเดิมก็คือต้องเขียนเล่มวิทยานิพนธ์ที่ได้มาตรฐานที่จะตีพิมพ์ได้ (Publishable แต่ยังไม่ได้ต้องได้รับการตีพิมพ์ก็จบได้) และการสอบป้องการวิทยานิพนธ์ปากเปล่า (Viva Voce) ให้ผ่านในขั้นสุดท้าย ดังนั้นตลอดสี่ปีของการเรียน (จริงๆแล้วคือการวิจัย 3 ปีแรกและเก็บความเรียบร้อยใน 1 ปีหลัง หรือที่เรียกกันว่า writing-up year) ในแบบที่ไม่มีวิชาเรียนบังคับมากมายนั้น หากนักเรียนป.เอกมาเรียนโดยไม่มี passion หรือความใฝ่รู้อย่างแรงกล้าในเรื่องที่จะทำวิจัยนั้นก็จะเกิดปัญหาดังที่พบกันอยู่บ่อยๆก็คือผู้เรียนไม่รู้/ไม่แน่ใจว่าจริงๆแล้วจะทำหรือกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องอะไร ข้อถกเถียง/ข้อเสนอหลักคืออะไร และจะทำไปเพื่ออะไร แต่หากใครก็ตามที่มี passion ต่อการทำวิจัยมากพอ ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีอย่างยิ่งต่อการเดินทางอันแสนทรหดในช่วงเวลาสี่ปี เพราะถือได้ว่ามีภูมิคุ้มกันในขั้นต้นที่ดีพอตัว และไม่ว่าจะเจออุปสรรคหรือความเครียดมากเพียงใด passion ที่มีก็จะเป็นแรงขับให้เดินไปจนถึงด่านสุดท้ายได้สำเร็จ  

2. มากกว่า 90%ของความสำเร็จมาจากตัวเรา
มีความเชื่ออยู่เรื่องหนึ่งที่นักเรียนไทยหลายคนมักพูดกันบ่อยๆว่า หากได้ supervisor ดีก็ถือเป็นศรีแก่ตัว และเชื่อว่าเราจะเรียนจบหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษาของเรา จริงอยู่ว่าอาจารย์ที่ปรึกษานั้นเป็นบุคคลที่สำคัญอย่างมากในกระบวนการเรียนปริญญาเอก แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่าอาจารย์ที่ปรึกษา หรือ supervisor นั้นก็เป็นเพียงผู้ที่คอยดูแล/ควบคุม/ให้คำแนะนำ/เสนอแนะความคิดเห็น เกี่ยวกับงานวิจัยที่เราทำเท่านั้น แต่งานวิจัยปริญญาเอกจะเกิดขึ้นและสำเร็จลงหรือไม่นั้นต่อให้มี supervisor ที่เก่ง/ใจดี/เอาใจใส่ มากเพียงใดแต่ถ้านักเรียนป.เอกไม่อ่านหนังสือและไม่ริเริ่มเขียนงาน วิทยานิพนธ์เล่มนั้นก็ไม่มีวันเสร็จอย่างแน่นอน

3. Supervisor(s) คือ 10% ที่เหลือแต่ว่าก็สำคัญมาก
Supervisor หรืออาจารย์ที่ปรึกษาเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการกำกับดูแลและช่วยผลักดันให้การทำวิจัยของนักเรียนป.เอกไปถึงฝั่งได้ ระบบการศึกษาป.เอกในแบบอังกฤษดั้งเดิมนี้นักเรียนป.เอกจะต้องเลือกและเสนอโครงร่างวิจัย (Research proposal) ให้กับอาจารย์ที่เราสนใจได้พิจารณาก่อนการสมัครเข้าเรียนอย่างเป็นทางการ หากว่าอาจารย์ท่านนั้นสนใจในเรื่องที่นักเรียนป.เอกจะทำวิจัย เขาก็จะตอบรับเป็นที่ปรึกษาให้และให้นักเรียนดำเนินการสมัครเข้าเรียนอย่างเป็นทางการในลำดับถัดไป แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ต่อให้เราเลือกแล้วว่าอาจารย์ท่านนั้นเก่งและมีผลงานตีพิมพ์มากมายดังที่ปรากฏในหน้า Profile ของมหาวิทยาลัย/ภาควิชา ก็ไม่ได้มีสิ่งใดการันตีได้ว่าอาจารย์ท่านนั้นจะมีนิสัยหรือระบบการจัดการชีวิต/การทำงานอย่างไร และเมื่อมาทำงานด้วยจริงๆแล้วอาจารย์ท่านนั้นจะเอาใจใส่ และอ่านงานให้เราได้เร็ว/ช้าได้มากน้อยแค่ไหน

คำแนะนำขั้นต้นที่อาจจะสำคัญสำหรับผู้ที่จะเลือก supervisor ก็คือ หากเป็นไปได้ให้เลือกอาจารย์ที่ไม่แก่เกินไปไม่อยู่ในวัยใกล้เกษียณอายุการทำงาน เลือกคนที่มีประวัติไม่ย้ายมหาวิทยาลัยบ่อยเพราะหากเราไปเรียนแล้วแต่อาจารย์ต้องย้ายมหาวิทยาลัยกลางคันก็จะเกิดความยุ่งยากตามมาหลายประการ นอกจากนี้หากเลือกได้ ก็ไม่ควรเลือกอาจารย์ที่เน้นเอาดีทางด้านบริหาร เพราะจะทำให้ไม่มีเวลาอ่านงานและคอมเม้นต์ให้นักเรียนป.เอกได้มากนัก

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผู้เขียนได้ supervisor เป็นชาวเยอรมัน และเป็นอาจารย์ที่มีระเบียบวินัยในการทำงาน (Work ethic) ที่สูงมาก ทุกครั้งที่ส่งงานให้อ่าน อาจารย์จะอ่านจบในเวลาไม่กี่วันและเรียกเข้าไปพบโดยเร็วเพื่อคอมเม้นต์ในส่วนที่คิดว่ายังต้องปรับปรุง พร้อมกับกำหนดเดดไลน์ในการปรับแก้ให้ทุกครั้ง ซึ่งในแง่นี้นับเป็นโชคดีที่ได้พบอาจารย์ที่ทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง และใส่ใจในทุกรายละเอียดในงานเขียน ส่งผลให้ในการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่ต้องปรับแก้ในงานเลยแม้แต่น้อย

4. Discipline หรือความมีวินัยคือกุญแจหลักของการเรียน
กุญแจหลักสู่ความสำเร็จในการเรียนปริญญาเอกในแบบ Research base ก็คือความมีวินัยในการทำงาน การเรียนปริญญาเอกต้องเขียนวิทยานิพนธ์ความยาวไม่เกิน 1 แสนคำ (แต่ระยะหลังในหลายมหาวิทยาลัยต้องการให้นักศึกษาเรียนจบเร็วขึ้นจึงลด word limit ลงมาอยู่ที่ 7-8 หมื่นคำ) ซึ่งเป็นงานขนาดใหญ่และใช้เวลายาวสาม/สี่ปีในการอ่าน/ค้นคว้า วิเคราะห์-สังเคราะห์และเขียนออกมาเป็น chapters หากไม่มีวินัยในการค้นคว้าและเขียนงาน ก็จะทำให้เกิดปัญหาได้และอาจจะทำให้นักเรียนป.เอกทำงานได้ล่าช้า และอาจจะนำไปสู่การไม่ผ่านการประเมินความก้าวหน้าก็เป็นได้ (ซึ่งมหาวิทยาลัยของผู้เขียนจะต้องถูกประเมินความก้าวหน้าของงานในทุกๆ 6 เดือน บางมหาวิทยาลัยก็ปีละ 1 ครั้งเป็นต้น)

5. ต้องทำงานแบบ Active ไม่ใช่ Passive
นักเรียนปริญญาเอกที่ประสบปัญหาในการเรียนจำนวนหนึ่งเกิดจากการไม่เข้าใจ nature ของการเรียนปริญญาเอกที่สำคัญมากประการหนึ่งคือการทำงานแบบ passive ซึ่งอาจเป็นเพราะรากฐานระบบการศึกษาของไทยที่ไม่ได้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เป็นผู้ริเริ่มในการค้นคว้าและแสวงหาซึ่งคำตอบในเชิงวิชาการ ส่งผลให้นักเรียนป.เอกจำนวนหนึ่งเข้าใจธรรมชาติของการเรียนปริญญาเอกผิดไป โดยทำงานในลักษณะของการรอคอยคำสั่งหรือการป้อนให้จาก supervisor อยู่เสมอโดยไม่ได้ริเริ่มค้นคว้าและเขียนงานด้วยตนเอง

การเรียนในระบบนี้ให้ประสบความสำเร็จนั้น ก็เป็นดังที่กล่าวไปในข้อแรกสุดคือตัวนักเรียนป.เอกนั่นเองที่จะต้องเป็นผู้ริเริ่ม ค้นคว้า อ่าน/เขียนด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นงานของเราเองมิใช่งานของอาจารย์ที่ปรึกษา การทำงานแบบ active นั้นนักเรียนป.เอกจะต้องคิดและริเริ่มไอเดียในแต่ละบทด้วยตนเองก่อน แล้วจึงนำเสนอเพื่อขอความเห็นจาก supervisor นอกจากนี้การทำงานแบบ active ยังรวมถึงความพยายามในการเขียนอยู่เสมอๆด้วย จากที่ได้พบเห็นประสบการณ์ของนักเรียนที่มีปัญหาในการส่งงานไม่ทันกำหนดและ/หรือมีปัญหาในการเรียน ก็มักเกิดจากการไม่พยายามเขียนงานออกมาโดยเชื่อว่ายังอ่านไม่มากพอที่จะเขียน ในจุดนี้ผู้เขียนเสนอว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่การค้นคว้าใดๆจะทำได้สมบูรณ์ 100% และไม่มีประโยชน์เลยหากเราจะอ่านงานทั้งหมด (ซึ่งไม่มีวันหมด) ก่อนที่จะเขียน sections หรือ chapters ใดๆก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องวางโครงแนวคิดให้ชัด และพยายามเขียนอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพของงานและจะมีเวลาเหลือเพื่อย้อนกลับมาแก้ไข/ปรับปรุง (Revise) ได้ในภายหลังอีกด้วย

6. การเรียน PhD ต้องมี Time plan หรือ Schedule ที่ชัดเจน
อาจารย์ที่ปรึกษาชาวเยอรมันของผู้เขียนเป็นผู้สอนเทคนิคนี้ให้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เราพบกันและเริ่มต้นคุยเกี่ยวกับโครงร่างงานวิจัย อาจารย์ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าในทุกครั้งที่มาพบกันจะต้องมีการตกลงว่าจะเขียนงานในบทใด (หรือส่วนใด) ขนาดความยาวควรจะยาวกี่คำ และทุกครั้งอาจารย์จะนำปฏิทินตั้งโต๊ะมาพิจารณาแล้วระบุวันไปเลยว่างานชิ้นนี้จะต้องส่งภายในวัน/เดือนที่กำหนด (แต่ก็สามารถยืดหยุ่นได้เล็กน้อยเช่น จะส่งก่อนหรือหลังภายใน 2-3 วันจากที่ตกลงกันก็ย่อมทำได้ แต่จะต้องส่งอีเมล์มาแจ้งก่อนทุกครั้ง) นอกจากนี้นักเรียนป.เอก ก็ควรจะต้องมีตารางการทำงานในภาพรวม (ภาพรวมของสามปี ระบุชัดเจนว่าจะเสร็จแต่ละบทภายในเดือนใดบ้าง) ที่ชัดเจนและเคร่งครัดในการทำงานตามที่ระบุไว้ในตารางการทำงาน ข้อดีของการระบุแผนงานที่ชัดเจนจะช่วยให้นักเรียนป.เอกมีชีวิตที่ไม่ยุ่งเหยิงเกินไป และรู้ว่าเมื่อใดควรจะทำอะไร และหากจะมีขี้เกียจบ้างในบางช่วงขณะก็อาจจะทำได้ หากพิจารณาแล้วยังอยู่ในวิสัยที่จะทำงานได้ทันตามตารางงานที่ระบุ การทำเช่นนี้จะรับประกันว่านักเรียนจะเขียนงานเสร็จและเรียนจบได้ตรงเวลาค่อนข้างแน่นอน

7. ต้องมี Critical thinking  
ในกระบวนการทำวิจัยปริญญาเอกนั้นสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากซึ่งถือเป็น quality ที่สำคัญและต้องมีสำหรับนักเรียนป.เอกก็คือการคิดเชิงวิพากษ์” (Critical thinking) เพราะการคิดเชิงวิพากษ์นั้นสำคัญมากในทุกๆขั้นตอนของกระบวนการทำวิจัย เริ่มตั้งแต่การทบทวนวรรณกรรม การคิดหัวข้อวิจัย การเลือกกระบวนการเก็บข้อมูล การอ่านเพื่อทำความเข้าใจข้อถกเถียง/ดีเบตหลักในวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย รวมถึงการวิเคราะห์และสังเคราะห์และเขียนลงในผลการวิจัยของนักเรียนป.เอก หากขาดซึ่งทักษะในการคิดเชิงวิพากษ์ก็เป็นการยากมากที่นักเรียนป.เอกจะสามารถทำงานวิจัยที่มีความโดดเด่นและมีความใหม่ (Originality) ด้วยตัวเองได้

8. ความฉลาดและ IQ ไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จ
โดยทั่วไปแล้วผู้คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่านักเรียนปริญญาเอก หรือดร. ที่เรียนสำเร็จแล้วจะต้องเป็นคนที่ฉลาดมาก และ/หรือมีสติปัญญาที่แหลมคม ตลอดจนต้องมี IQ ที่สูงล้ำกว่าคนอื่นๆเป็นแน่ แต่แท้จริงแล้วความเชื่อเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องจริง ดร. ก็เป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่รู้เฉพาะในเรื่อง/สาขาที่ตนเองทำวิจัยมาเท่านั้น แต่ไม่ใช่ผู้ที่รู้ทุกเรื่องในโลกวิชาการ (เพราะมันไม่มีทางเป็นไปได้) จากประสบการณ์ที่พบเจอ คนที่มีผลการเรียนดีเด่นมาก ก็ไม่ใช่สิ่งที่การันตีความสำเร็จในการทำวิจัยปริญญาเอก แต่คนที่พยายาม มี work ethic ทำงานหนักและมีวินัยต่างหากที่การันตีความสำเร็จค่อนข้างแน่นอน

9. ต้อง balance การเรียนและการใช้ชีวิตให้ดี
การเรียนปริญญาเอกใช้เวลายาวหลายปี แน่นอนว่าการมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับการค้นคว้าวิจัยและเขียนงานย่อมเป็น first prioirty เสมอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักเรียนป.เอกจะต้องทำแต่งานวิชาการแต่เพียงอย่างเดียวตลอด 3-4 ปี การ balance ระหว่างการเรียนกับการใช้ชีวิตและพักผ่อนก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากอย่างมากเช่นกัน การไปเรียนต่างประเทศก็เป็นโอกาสดีสำหรับนักเรียนป.เอกที่จะได้เดินทางไปทำความรู้จักกับเมืองและสถานที่ใหม่ๆ หรือการไปชมคอนเสิร์ตและกีฬาระดับโลกก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาดเพราะเราได้ไปอยู่ในจุดนั้นแล้วก็ควรหาประสบการณ์ชีวิตไว้บ้าง นอกจากนี้การเข้าผับเพื่อดื่มและสังสรรค์กับเพื่อน หรือจัดปาร์ตี้ก็ย่อมทำได้บ้าง หากไม่กระทบกับตารางการทำงานที่เราได้วางไว้ก่อนแล้ว ผู้เขียนยึดหลักการว่าหากเว้นวรรคจากการทำงานไปท่องเที่ยว หรือไปชมฟุตบอล ก็จะต้องกลับมาทำงานชดเชยวันที่หยุดไปให้พอดีกันหรือทำงานให้มากขึ้น เพื่อให้ตารางงานของเราไม่เสียระบบไป

10. การคิดบวกเป็นสิ่งที่ดี
ข้อคิดประการสุดท้ายก็คือ การคิดบวกท่ามกลางสภาวะความเครียดเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก ขอให้นักเรียนป.เอกคิดไว้เสมอว่าเราได้ทำเต็มที่ (Do your best) อยู่เสมอ ดังนั้นไม่ว่าเมื่อไรจะต้องรับฟีดแบกงานคืนจาก supervisor ก็ขอให้มองบวกไว้เสมอ หากมีคอมเม้นต์มากและต้องแก้เยอะ นั่นคือเรื่องที่ดี เพราะการเห็นข้อผิดพลาดในระหว่างการทำวิจัยและเขียนงานย่อมเป็นเรื่องดีที่เรายังมีโอกาสแก้ไข ก่อนที่จะได้ส่งเล่มและสอบปากเปล่าในขั้นสุดท้าย การเรียนปริญญาเอกในระบบอังกฤษจะต้องผ่านประสบการณ์หน้าชา ได้รับคอมเม้นต์ที่ได้ฟังแล้วเศร้าใจ หรือทดท้อใจอยู่ตลอดเวลา แต่การมองบวกจะช่วยให้เราเข้าใจว่า กระบวนการฝึกตนในจุดนี้เป็นเรื่องที่ดี และวันหนึ่งข้างหน้า ในฐานะที่เป็น ดร. เราเองจะต้องทำวิจัยในระดับสูงโดยไม่มีที่ปรึกษามาคอยจ้ำจี้จำไชอีกต่อไปนั้นเราเองจะสามารถทำได้ และถ่ายทอดประสบการณ์ของตนต่อลูกศิษย์ในอนาคตได้ต่อไป

อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเรียนปริญญาเอก



No comments:

Post a Comment